วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

โครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม
live broadcast

ความเป็นมา
   1. กรมสามัญศึกษาประสบปัญหาการขาดแคลนครูที่สอนระดับมัธยมศึกษาตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนที่อยู่บริเวณชายแดน มีนักเรียน 1,000 คน ต่อครู 20 คน ขณะที่ครูมัธยมในอำเภอต่างๆ มี 70-100 คน (วุฒิปริญญาตรีถึงปริญญาโท) ต่อนักเรียน 1,000 คน ในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดมีครู 185-200 กว่าคน (วุฒิปริญญาตรีถึงปริญญาเอก) ต่อนักเรียน 3,800 คน ถึง 4,000 คน กรมสามัญศึกษาพยายามแก้ไขสถานการณ์ตลอดมา นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ผู้จัดการโรงเรียนวังไกลกังวลตั้งแต่ปี 2522 และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งให้การสนับสนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จำนวน 35 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้หารือประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมสามัญศึกษา ในการถ่ายทอดการเรียนการสอนผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน อันเป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ช่วยพัฒนามาตามลำดับจนเป็นโรงเรียนตัวอย่าง เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเมื่อปี 2539 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่โรงเรียนวังไกลกังวลโดยทรงแนะนำให้สอนวิชาชีพ เป็นต้นกำเนิดของวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล
   2. เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประกอบพิธีเปิดการเรียนการสอนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เป็นกรรมการบริหาร และมีการเลือกตั้งประธานกรรมการบริหารได้แก่นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ
   3. เพื่อแก้ไขการขาดแคลนครูในชนบทข้างต้น มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมดำเนินงานมาแล้วเป็นปีที่ 6 สามารถถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษา ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดทั่วประเทศประมาณ 2,700 โรงเรียน โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนอื่นๆ ประมาณ 300 แห่ง รวม 3,000 โรงเรียน มีนักเรียนที่ได้รับพระราชทานการศึกษาจากโรงเรียนวังไกลกังวล ประมาณ 2 ล้านคน สมาชิก UBC อีก 350,000 คน และประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่กัมพูชา ลาว พม่า และเวียตนาม นอกจากการถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาแล้ว สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล ยังทำการถ่ายทอดรายการการศึกษาชุมชน หลักสูตรวิชาชีพของวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล (ระยะสั้นและปกติ จนถึง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส) ) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล และรายการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในเรื่องเกี่ยวกับรายการต่างๆ และการดำเนินการของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำ และพระราชทานรายการชื่อ “ศึกษาทัศน์” ออกอากาศทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมวังไกลกังวล ยังเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาปีสุดท้าย และนักศึกษาฝึกหัดจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันราชภัฏต่างๆ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาลัยนานาชาติ ชิลเลอร์ สแตมฟอร์ด หัวหิน
หลักการและเหตุผล
         การสร้างคนหรือที่เรียกกันว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)โดยการลงทุนในด้านการศึกษาเป็นการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริงที่ยั่งยืน ตามมติ ครม ที่ นร 0215/ว(ล) 14482 ลว. 1 ธ.ค. 38 เห็นชอบในหลักการโครงการการศึกษาสายสามัญด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการโดยกรมสามัญศึกษาร่วมมือกับ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ส่งสัญญาณดาวเทียมเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธ.ค. 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ 50 ปี ได้พระราชทานทุนประเดิม 50 ล้านบาท ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ทูลเกล้าถวายและบริษัท ชินวัตรฯ ทูลเกล้าถวายอีก 20 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ณ โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำหรับงบประมาณดำเนินการในปีงบประมาณ 2539 ได้รับอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในวงเงิน 125 ล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2540 ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ได้รับทั้งสิ้นตั้งแต่ปี 2539-2544 จำนวน 1,340,083,900 บาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา 2,668 โรงเรียน เป็นการเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ เพื่อดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ และเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่มีเด็กอายุ 12 ปี จำนวน 3 ล้านคนที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนประถมศึกษาประมาณ 37,000 แห่งทั่วประเทศและไม่สามารถเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาได้เพราะไม่มีโรงเรียนมัธยมศึกษาเพียงพอที่จะรองรับและเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา ที่ระบุนโยบายของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี ในปีงบประมาณ 2545 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จะร่วมกันดำเนินโครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมชั้นมัธยมศึกษาสายสามัญให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ชั้น ม.1-3 จำนวน 3,000 โรงเรียนต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี จนถึง พ.ศ. 2554 และจะได้ทะยอยขยายให้ถึงชั้น ม.4-6 ต่อไป

โครงการโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาสทั่วประเทศโดยใช้วิธีถ่ายทอดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียม ในภาพรวมอาจแบ่งเป็น
   1. โครงการขยายโอกาสโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 30,000 โรงเรียน ปีละ 3,000 โรงเรียน ภายใน 10 ปี ให้มี ม.1- ม.6 แบ่งเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 ม.1-ม.3 และ ระยะที่ 2 ม.4-6 โดยติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมครั้งละ 3 ชั้นเรียน เพื่อประหยัดแรงงานและงบประมาณในการติดตั้ง
   2. โครงการขยายโอกาสโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 6,900 โรง ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้ขยายถึง ม.3 แล้วให้ถึง ม.6 ด้วยการใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
   3. โรงเรียนประถมศึกษาเอกชนที่ขาดทุนทรัพย์และต้องการรับการถ่ายทอดสดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมหลักสูตรมัธยมศึกษา
หากจะขยายการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้เพียงพอที่จะรองรับเด็กนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี จำนวน 3 ล้านคน(ข้อมูลจาก อดีต รมว.ศธ.สุขวิช รังสิตพล) ตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ก็คงขยายได้ปีละ 100 โรงเรียน และเพิ่มจำนวนนักเรียนได้เพียงปีละ 10,000 คน จะต้องใช้ระยะเวลาถึง 300 ปี ซึ่งอนาคตของชาติและอนาคตของเยาวชนอายุ 12 ปี ที่จบประถมศึกษาและไม่มีโรงเรียนระดับมัธยมเรียนต่อจะต้องเสี่ยงกับปัญหายาเสพติด และปัญหาสังคมอื่นๆรอบด้าน ทั้งจะเป็นประชาชนที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่โรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมดพร้อมจะรับการถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวลนั้น กองทัพบกยินดีให้ความร่วมมือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกทั้งมูลนิธิฯสามารถจัดซื้ออุปกรณ์ในราคาที่บริษัทที่ผลิตลดให้ในราคาพิเศษเป็นการเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นการประหยัดงบประมาณและเวลาในการติดตั้งปีละ 3,000 โรงเรียน เป็นเวลา 10 ปี เพื่อสอดคล้องกับนโยบายการปฎิรูปการศึกษาให้สัมฤทธิ์ผลรวดเร็วยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์
   ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2539-2545  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู อุปกรณ์ คู่มือและตารางการเรียนการสอน รวมถึงการแก้ปัญหามาตรฐานของสถานศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเขตเมืองและชนบทห่างไกลจึงได้ติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณดาวเทียมให้โรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดกรมสามัญศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6
   ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2545-2554 ขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาทั่วประเทศให้ได้รับการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย (ม.1-ม.6)
เป้าหมาย
   1. ปรับปรุงเครื่องมือเครื่องใช้ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ ณ โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 6แล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ครบกำหนดอายุใช้งาน จำเป็นจะต้องรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามข้อกำหนด
   2. ขยายการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 ให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เป็นการเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่อง
  3. กำลังดำเนินการขยายการออกอากาศภาคภาษาอังกฤษสำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับ พระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อปี พ.ศ. 2543 และผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษ

การดำเนินงาน
         หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมที่เกี่ยวข้องร่วมกันรับผิดชอบในการดำเนินงาน ดังนี้
กระทรวงศึกษาธิการ กรมสามัญศึกษาโดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมรับผิดชอบในระดับมัธยมศึกษา ถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมให้ ครบทุกโรงเรียนจำนวน 2,668 โรงเรียน โดยติดตั้งชั้นละ 1 ห้องเรียน
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติขอความร่วมมือจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในการต่อยอดโรงเรียนประถมศึกษา ให้ขยายเป็น ม.1-ม.3 และม.4-ม.6 โดยใช้วิธีถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน และมูลนิธิฯ จัดส่งคู่มือครูและตารางการเรียนการสอนไปให้โรงเรียนปลายทางล่วงหน้าก่อนเปิดเทอม
โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 30,000 โรงเรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติยังไม่ได้ขยายโอกาส จะเริ่มใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสำหรับชั้น ม.1- ม.6 แบ่งเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 ม.1-ม.3 และ ระยะที่ 2 ม.4-ม.6 โดยติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมครั้งละ 3 ชั้นเรียน
         โรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส จำนวน 6,900 โรงเรียน ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้ขยายแล้วถึง ม.3 จะใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขยายให้ถึง ม.6 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) รับผิดชอบในการผลิตหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จะเริ่มดำเนินการวางแผนอบรมครูและจัดทำโปรแกรม วิธีการ ตลอดจนผลิตหลักสูตร สื่อการเรียนการสอนออกอากาศโดยผ่านระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
         หน่วยงานอื่นๆ ที่พร้อมให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนด้านการศึกษา ชุมชน อาทิ วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีในจังหวัดต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯ
ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่โรงเรียนปลายทาง เช่น การจัดแสงสว่างภายในห้องเรียน การติดตั้งเครื่องรับโทรทัศน์ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน และในตำแหน่งที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยลดปัญหาแสงสะท้อนบนจอเครื่องรับโทรทัศน์ได้ รวมทั้งการจัดส่งตารางสอนและคู่มือครูการสอนทางไกลให้ถึงโรงเรียนปลายทางก่อนเปิดเทอมโดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ได้พระราชทานรายการพิเศษชื่อ “ศึกษาทัศน์”

หน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือและการสนับสนุน
   - กองทัพบก ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมให้กับโรงเรียนปลายทางทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ค่าติดตั้ง ค่าขนส่ง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ
   - องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือไม่คิดค่าบริการโทรศัพท์และ โทรสาร จำนวน 4 เลขหมาย และค่าเช่าสายเคเบิ้ลใยแก้วจากสถานีส่งโรงเรียนวังไกลกังวลหัวหิน ถึงสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินที่ลาดหลุมแก้ว 2 ชุด (ทางบก-ทางทะเล) เป็นการโดยเสด็จพระราชกุศล
   - การสื่อสารแห่งประเทศไทย ไม่คิดค่าบริการโทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศในการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน วันละ 1 ชั่วโมง สำหรับรายการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมภาคภาษาอังกฤษ
   - การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำนวยความสะดวกในเรื่องไฟฟ้า
   - กระทรวงศึกษาธิการ จัดครู อาจารย์ ประจำวิชามาร่วมสอนออกอากาศ
   - บริษัทที่ผลิตเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม IRD ลดราคาพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่อง 
         ความร่วมมือกับต่างประเทศ มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ อาทิ UNESCO , FAO , SEAMEO และมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งอธิการบดีเป็นประธานโครงการมหาวิทยาลัยเสมือนจริงแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ในกรอบของ SEAMEO ซึ่งครอบคลุม 6 ประเทศ ได้แก่ จีน(คุนหมิง) กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียตนาม เนื่องจากกิจกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิฯเป็นที่รู้จักและยอมรับในต่างประเทศ จึงมีผู้แทนจากหน่วยราชการต่างประเทศ เอกอัครราชทูต ผู้แทนสถานทูต ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของเอกชนต่างประเทศมาขอศึกษาดูงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล อาทิ ผู้แทน JICA ญี่ปุ่นที่ประจำลาวและกัมพูชา ประธาน Nippon Foundation ประธานบริษัท อาซาฮีกลาส Executive Director ของ Sasakawa Peace Foundation ประเทศญี่ปุ่น และผู้บริหารจากบริษัทมิตซุย บริษัทโซนี่ เอกอัครราชทูตเยอรมนี เอกอัครราชทูตพม่า เอกอัครราชทูตจีน ที่ปรึกษาสถานทูตลาว ผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่น และเวียตนาม และสื่อมวลชนต่างประเทศ อาทิ NHK ของญี่ปุ่น และCNN จากสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ในส่วนของฝ่ายไทย คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการการศึกษาและ วัฒนธรรม วุฒิสภา ตลอดจนอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มาเยี่ยมชมการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ณ โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน
         มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้รับคำขอและการสนับสนุนจากมูลนิธิ ซาซากาวา (The Sasakawa Peace Foundation) ประเทศญี่ปุ่น ให้จัดการฝึกอบรมด้านทรัพยากรมนุษย์เรื่องการจัดการและเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้แก่สี่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียตนาม ถึง 2 ครั้ง ทั้งระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ ในเดือนมกราคมและพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2543 ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีรายการทางการศึกษาจำนวน 6 ช่อง คือ ช่อง11 , 12 , 13 , 14 , 15 ,16 ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง และกำลังดำเนินการจัดช่องออกอากาศอีก 1 ช่อง เป็นรายการภาคภาษาอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2545 ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศ กล่าวคือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียตนาม ที่ได้รับพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประเทศละ 6 ชุด เมื่อครั้งมาฝึกอบรมที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวลฯ หัวหิน ในกรณีของเวียตนามนั้นได้รับพระราชทานไปก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2541 6 ชุด ได้นำไปติดตั้งที่ Industrial Technical and Economic Junior College No.1 ณ กรุงฮานอย ส่วนที่ได้รับพระราชทานในปี พ.ศ. 2543 อีก 6 ชุด ได้นำไปติดตั้งที่ Hanoi Open University รวมเป็น 12 ชุด ปรากฎผลว่า ได้นำไปใช้เป็นประโยชน์โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาชุมชน ภาษาต่างประเทศ และศิลปวัฒนธรรม ส่วนลาวได้นำไปติดตั้ง 5 จุด ณ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน กม.8 โรงเรียนบำรุงวัฒนธรรมกระทรวงภายในหลัก 67 โรงเรียนเด็กกำพร้ากระทรวงภายในหลัก 62 และแผนกศึกษาแขวงบ่อแก้ว ส่วนกัมพูชาและพม่ากำลังดำเนินการ
ในเดือนมิถุนายน 2544 ศ.ดร.บุญเตียม พิดสะไหม รัฐมนตรีประจำสำนักนายก รัฐมนตรี ประธานสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศลาวและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ
         เจ้าหน้าที่กรมสามัญศึกษาลาว ได้มาเยี่ยมชมกิจการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย และโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาซึ่งใช้การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมหลายโรงเรียน ศ.ดร.บุญเตียม ได้ทดลองติดต่อทางโทรศัพท์กับสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล และร่วมในการประชุมทางโทรทัศน์ (TV Conference) กับโรงเรียนปลายทางที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดศรีสะเกษด้วย
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
   1. เป็นการสร้างอนาคตทางการศึกษาให้แก่เยาวชนของชาติให้มีโอกาสเรียนการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี ตามพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา ในการแก้ไขภาวะการณ์ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาไม่เพียงพอที่จะรองรับนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ขาดแคลนภายใน 10 ปี การใช้การถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมเป็นการประหยัดงบประมาณและมีกำหนดเวลาที่แน่ชัด
   2. เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูมัธยมศึกษาที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น สัดส่วนครูต่อนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนที่อยู่บริเวณชายแดน มีนักเรียน 1,000 คน ต่อครู 20 คน ขณะที่ครูมัธยมในอำเภอต่างๆ มี 70-100 คน (วุฒิปริญญาตรีถึงปริญญาโท) ต่อนักเรียน 1,000 คน ในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดมีครู 185-200 กว่าคน (วุฒิปริญญาตรีถึงปริญญาเอก) ต่อนักเรียน 3,800 คน ถึง 4,000 กว่าคน
   3. เป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลนงบประมาณ ครูผู้สอน เครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนตลอดจนห้องเรียนให้เพียงพอกับความต้องการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 มีครูลาออกก่อนเกษียณอายุจำนวนประมาณ 40,000 คน งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนถูกตัดมากมาย ถ้าสร้างให้ครบตามเกณฑ์กระทรวงศึกษาธิการ ก็คงต้องใช้ระยะเวลาไม่รู้กี่ปี จากการจัดการเรียนรวม ก็สามารถใช้การเรียนการสอนตามคู่มือและตารางการเรียนการสอนของโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งมูลนิธิฯ จัดพิมพ์และส่งไปยังโรงเรียนปลายทางโดยไม่คิดมูลค่า
   4. การถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการจัดการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาเดียวกัน เวลาเดียวกัน มาตรฐานและคุณภาพเดียวกันระหว่างโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบท
   5. การถ่ายทอดรายการการศึกษาชุมชนผ่านดาวเทียมไปถึงระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดต่างๆไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรวิชาชีพ (ระยะสั้น ปกติ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส)) ที่วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวลรับผิดชอบ หรือ หลักสูตรอุดมศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชรับผิดชอบสอนออกอากาศทุกวัน เป็นการศึกษาชุมชนที่ทำให้ครอบครัวและหมู่บ้านไกลคมนาคมมีโอกาสได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตและเพิ่มพูนรายได้
   6. การถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาทั้ง 6 ชั้นเรียน ทางสถานีโทรทัศน์จำนวน 6 ช่อง ตลอด 24 ชั่วโมงไปยังโรงเรียนมัธยมในสังกัดกรมสามัญศึกษาทั่วประเทศประมาณ 2,700 โรงเรียน ตลอดจนโรงเรียนเอกชน โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนอื่นๆประมาณ 300 แห่ง รวมกว่า 3,000 โรงเรียน ตลอดจนการถ่ายทอดรายการการศึกษาชุมชน สรุปได้ว่าการถ่ายทอด 24 ชั่วโมง ทาง UBC ช่อง 11-16 นั้น ครอบคลุมสมาชิก UBC อีก 350,000 คน และประเทศเพื่อนบ้านอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา พม่า ลาว และเวียตนาม ซึ่งได้รับพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เท่ากับได้รับพระราชทานการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2545 มูลนิธิฯ กำลังจะจัดทำรายการการศึกษาทางไกลภาคภาษาอังกฤษให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ที่สนใจในภาคภาษาอังกฤษ สรุปว่ากิจกรรมทั้งหมดก็คือการส่งเสริมการศึกษาในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ คุณภาพ จริยธรรม และการศึกษาตลอดชีวิต
   7. ความสามารถในการโต้ตอบสื่อสาร 2 ทาง (interactive)ในลักษณะ TV conference ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนและครูโรงเรียนปลายทางกับโรงเรียนต้นทาง ติดต่อซักถาม สอบถามปัญหา หรือข้อสงสัยได้ทันที ทางโทรศัพท์และโทรสาร 4 เลขหมายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เท่ากับเป็นการพัฒนาครูต้นทางและปลายทางไปพร้อมๆกัน และเป็นการปรับปรุงยกระดับครูตลอดจนผู้บริหารอีกด้วยในอนาคตเมื่อมีโทรศัพท์จัดตั้งระบบที่เห็นภาพผู้ที่อยู่ต้นทางและปลายทาง ทางโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมก็สามารถถ่ายทอดออกมาทางจอภาพโทรทัศน์ได้เช่นกัน

หมายเหตุ
   1. การที่มูลนิธิฯ ไม่ได้ระบุว่าสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช) มีความจำเป็นที่จะต้องมีการสอนสดผ่านดาวเทียมตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 จำนวน 30,000 โรงเรียน เพราะ สปช เป็นต้นสังกัดของโรงเรียนประถมศึกษาเหล่านั้นอยู่แล้ว และสิ่งที่คงขาดและมีความต้องการให้มูลนิธิฯสนับสนุนให้ได้รับการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไป คือ ม.1 ถึง ม.6 สำหรับ 6,900 โรงเรียน ที่ได้ขยายถึง ม.3 ก็จะได้ขยายไปถึง ม.4-5-6
   2. มูลนิธิฯ มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนครูระดับมัธยม แต่ในอนาคตถ้ามีการขาดแคลนครูในชั้นประถม มูลนิธิฯก็สามารถที่จะช่วย สปช ได้ด้วยการขอจัดตั้งสถานีวิทยุการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 6 ชั้นเรียน (ในอนาคตอาจจะมีครูลาออกก่อนเกษียณเพิ่มขึ้นและจะประสบการขาดแคลนครูประถมศึกษาเช่นเดียวกับครูระดับมัธยม)

ข้อมูล : มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น